BCG Model ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

        ตามที่ ครม. (19 ม.ค.64) มีมติเห็นชอบให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2564 สอดคล้องกับเป้าหมายการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ของสหประชาชาติเพื่อแก้ปัญหาที่ทั้งโลกกำลังเผชิญ เช่น ปัญหาสภาวะโลกร้อน ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

        ในปี 2565 ไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดการประชุมเอเปค (APEC 2022) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 21 เขตเศรษฐกิจชั้นนำ และมีโอกาสต้อนรับผู้นำระดับโลก จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะสื่อสารการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของไทย หรือ BCG Model ให้ทั่วโลกได้รับรู้ผ่านทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเวทีดังกล่าว โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องสอดคล้องกับการพัฒนาในระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม และการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

        ล่าสุด (8 ก.พ.65) ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy : BCG Model) พ.ศ. 2564 – 2570 ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (พ.ศ. 2565-2570) ภายใต้วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี รักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ให้มีคุณภาพที่ดี ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ และวัฒนธรรม การสร้างคุณค่า (Value Chain) จากทรัพยากรชีวภาพ และวัฒนธรรม และการสร้างความสามารถในการพึ่งตนเอง

        แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์

        ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ มีตัวชี้วัดอาทิ คลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมดิจิทัล เทคนิคและนวัตกรรม ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพสิ่งแวดล้อม ในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีโครงการ อาทิ โครงการคลังข้อมูลดิจิทัลความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมโดยบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน BCG ให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ และโครงการ Thailand Biodiversity Genome Project และโครงการการจัดทำแผนที่ใต้สมุทร และฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพทางทะเลและชายฝั่งทะเลไทย กรอบวงเงิน 2,290 ล้านบาท

        ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีตัวชี้วัดอาทิ อัตราการขยายตัวของ GDP ของภูมิภาคเติบโตเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จากปีพ.ศ. 2565 และ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ลดลงไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน กรอบวงเงิน 1,820 ล้านบาท สำหรับ 4 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาการเกษตรเศรษฐกิจจากจุลินทรีย์และเห็ดรา เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG Model โครงการการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จากความหลากหลายทางชีวภาพสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน โครงการยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และมาตรฐานของอาหาร ท้องถิ่น (Street Food/วิสาหกิจชุมชน) และโครงการพลังงานชุมชน

        ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (ประกอบด้วย 5 สาขา ได้แก่ สาขาการเกษตร และอาหาร สาขาการแพทย์และสุขภาพ สาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ สาขาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน) โดยมีตัวชี้วัดสำคัญ เช่น เพิ่ม GDP สาขาเกษตร 3 แสนล้านบาท รายได้ครัวเรือนเกษตรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 100,000 บาท/ ครัวเรือน/ปี เพิ่ม GDP สาขายาและวัคซีน เป็น 9 หมื่นล้านบาท สาขาเครื่องมือแพทย์สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม 100,000 ล้านบาท เพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ให้ประชาชน ในภูมิภาคและชนบท 1 ล้านคน เพิ่มอันดับการจัดอันดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Global Wellness Travel Ranking) เป็น Top 5 ภายในปี พ.ศ. 2570 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงไม่น้อยกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2570 โดยมีตัวอย่างโครงการที่สำคัญ รวม 15 โครงการ

        1. โครงการการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตรแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area Based)

        2. โครงการ การใช้ประโยชน์จากคลังข้อมูลขนาดใหญ่ภาคการเกษตร เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพ การผลิต และจัดสมดุลการผลิต - การตลาด

        3. โครงการ รับรองมาตรฐานสินค้าปลอดภัยเชื่อมสินค้าเกษตรปลอดภัย สู่อุตสาหกรรมอาหาร

        4. โครงการพัฒนากลไกบริหารจัดการและมาตรการ เพื่อลดการสูญเสียอาหาร (food loss) และขยะอาหาร (food waste)

        5. โครงการยกระดับแพลตฟอร์มการผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรม ครบวงจร

        6. โครงการการผลิตยาต้านไวรัสรองรับการระบาดใหญ่ และสร้างศักยภาพการผลิตยาภายในประเทศ

        7. โครงการยกระดับ การแพทย์จีโนมิกส์เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการบริการ

        8. โครงการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาด้านนวัตกรรมและเสริม มาตรฐานเครื่องมือแพทย์ที่ขาดแคลนให้เป็นสากล

        9. โครงการ ยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยด้วยนวัตกรรม

        10. โครงการการพัฒนาแนวทาง วิธีการ และกระบวนการติดตามประเมินผล การกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากโครงการภาคป่าไม้ที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการรับรองเป็นคาร์บอนเครดิต ภายใต้โครงการ ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศ

        11. โครงการการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน

        12. โครงการยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการท้องถิ่น เพื่อการท่องเที่ยวหลังโควิด

        13. โครงการสร้างความรับรู้และมีส่วนร่วม ในเรื่อง BCG

        14. โครงการจัดการขยะพลาสติกครบวงจร แยก รวบรวม จัดเก็บ หมุนเวียนใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้มีการนำมาใช้ซ้ำ

        15. โครงการบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลการลดการสูญเสีย อาหารและขยะอาหารระดับชาติ

        ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแส การเปลี่ยนแปลงของโลก โดยตัวชี้วัดอาทิ จำนวนผู้ที่ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะที่สูงขึ้นไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน จำนวนวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการมุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG 1,000 ราย โดยมีตัวอย่างโครงการที่สำคัญเช่น โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (Youth Startup Fund) โครงการ พลิกโฉมการเรียนรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรม และศาสตร์เชิงบูรณาการ

        ประโยชน์ของ BCG โมเดล

        • ด้านเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ้านำแนวคิดเรื่อง BCG มาใช้ จะทำให้คนตกงาน เริ่มหันกลับมาสนใจการทำงานในภาคการเกษตร ช่วยลดภาวะการว่างงาน

        • ด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารในระดับที่ดี ในแง่ของการผลิต ไทยผลิตอาหารได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ผลิตอาหารประเภทส่วนเกิน คือ กลุ่มอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง น้ำตาล ในจำนวนมาก ขณะที่อาหารประเภทโปรตีน กลับผลิตได้ไม่เพียงพอ จึงต้องพยายามปรับให้การผลิตอาหารประเภทส่วนเกินมาเป็นโปรตีน เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศ ด้วยการนำแนวทาง BCG เข้าไปช่วย และทำให้กลุ่มคนทุกระดับ ได้รับสารอาหาร และสามารถเข้าถึงอาหารได้

         • ด้านพลังงาน ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาแก๊สธรรมชาติมาก ใช้ในการผลิตไฟฟ้า 60% และมีแนวโน้มว่าจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากในอนาคต BCG จะเข้ามาช่วยให้ไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน จากเดิม 16.5% ในปี 2562 เพิ่มเป็น 20%

        • ด้านสุขภาพ ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มยา และเวชภัณฑ์ ในปัจจุบันทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมกำลังศึกษาเรื่องการผลิตยา เช่น ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง ยารักษาโรคมะเร็ง เพื่อลดการนำเข้ายาในอนาคต เช่นเดียวกับวัคซีนที่อยู่ในขั้นการทดลอง เพื่อนำมาใช้จริง

        • ด้านความยั่งยืน เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ คาดหวังว่าเมื่อทำ BCG ได้แล้ว จะสามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลงไป อีกทั้งยังสามารถ ลดมลพิษ เช่น PM 2.5 ขยะ น้ำเสีย การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลสัตว์สูญพันธุ์ • ด้านการท่องเที่ยว ในรูปแบบเดิมอาจทำให้ธรรมชาติสึกหรอ แต่เมื่อมีการวางแผนการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการดูแลธรรมชาติ จะทำให้รูปแบบการท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
Tag