เซิ้งผีโขน บ้านไฮหย่อง

ผีโขน หมายถึง การแต่งหน้ากากคล้ายหัวโขน คือแต่ง หู ตา จมูก ปาก ให้น่ากลัวคล้ายผี ไม่เพียงปต่เท่านั้นยังจัดทำทรงผม เครื่องห่อหุ้มร่างกายให้รกรุงรัง คล้ายผีมากขึ้น เป็นงานบุญเฉพาะอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนครน

ผีตาโขน หมายถึง การละเล่นของงานบุญหลวงซึ่งเป็นงานบูญเฉพาะท้องถิ่นของ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และยังเป็นความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องส่งพระเวสสันดร กลับพระนคร โดยพวกผีตาโขน จะร่วมขบวนตามมาส่งเสด็จซึ่งเป็นขบวนสุดท้าย ในสมัยก่อนเรียกว่า "ผีตามคน" พอนานเข้าก็เพี้ยนมาเป็น "ผีตาโขน" ดังที่ใช้เรียนในปัจจุบันผีโขนเกิดจากความเชื่อของชนเผ่าหนึ่งในจังหวัดสกลนคร คือ เผ่าไทอีสาน ซึ่งเป็นชนกลุ่มหนึ่งในจำนวน 6 เผ่า ของจังหวัดสกลนคร ซึ่งประกอบไปด้วย เผ่าย้อ เผ่ากะเลิง เผ่าภูไทย เผ่าโส้ และเผ่าไทยอีสาน การเล่นผีโขน บ้านไฮหย่อง จึงสืบมรดกวัฒนธรรมประเพณีต่อกันมา ดังปรากฎว่า บรรดาผีมเหสักข์หลักเมือง ในบ้านไฮหย่องมีชื่อว่า "ผีจันต์" อยู่ในกลุ่มผีระดับสูงด้วย ที่เข้าร่วมขบวนแห่พระเวสสันดร ปัจจุบันเผ่าไทอีสาน ที่บ้านไฮหย่อง จ.สกลนคร ยังสืบทอดการแสดงผีโขนต่อมาจนถึงปัจจุบัน ประเพณีผีโขนบ้านไฮหย่อง ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งเป็นวันจัดขบวนแห่ผีโขนที่ยิ่งใหญ่

จุดประสงค์การแสดงผีโขน
1. เพื่อระลึกถึงคุณงามความดี การบำเพ็ญกุศลของพระเวสสันดรชาดกในอดีตกาล เพื่อเป็นข้อเตือนใจว่า การเป็นคนดีมีคุณธรรมมีน้ำใจเกื้อกูลต่อผู้อื่น เสียสละ บริจาค ให้อภัยซึ่งกันและกัน แม้กรณีทั้งภูตผีปีศาจ ก็ยังแซ่ซ้องสรรเสริญ เข้าร่วมขบวนแห่อัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมืองด้วย
2. เพื่อเป็นการบอกบุญ พุทธศาสนิกชน ผู้ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้มีโอกาสเข้าร่วมทำบุญบริจาคทานก่อนถึงวันงานประเพณีบุญมหาชาติ โดยใช้ผีโขน แห่ไปตามหมู่บ้านต่างๆ
3. ผีโขน เป็นส่วนหนึ่งของงานบุญมหาชาติที่สำคัญ ซึ่งทำให้งานเกิดความครึกครื้น สนุกสนาน
4. เพื่อเป็นการพบปะสังสรรค์ ในหมู่ญาติมิตร เพื่อนฝูงในรอบหนึ่งปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นวันกลับคืนสู่มาตุภูมิของคนในหมู่บ้าน เพื่อร่วมพิธีในการแสดงผีโขน

การประกอบพิธี
1. ก่อนที่ผีโขนจะนำขบวนเพื่อไปบอกบุญตามหมู่บ้านต่างๆ จะต้องคาระวะต่อศาลเจ้าปู่เมืองหาญ ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชา ของคนในหมู่บ้านไฮหย่อง
2. การร่วมพิธีของผีโขนจะมีห้วหน้าผีเป็นผู้ควบคุมโดยใช้เชือก ล้อมผีโขนไว้เพื่อไม่ให้แตกกลุ่มไปรบกวนชาวบ้านที่ร่วมขบวนแห่
3. ในขณะที่เคลื่อนขบวนแห่ จะมีหัวหน้าผีเป็นผู้ร้องนำ ซึ่งเรียกว่า "การเซิ้งผีโขน" และผีโขนจะร้องตามหัวหน้าทีละวรรค เนื้อหาคำเซิ้งจะมีลักษณะเป็นกาพย์ เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับนิทานสอนใจ คติเตือนใจ เป็นอุทาหรณ์ให้แก่ผู้ฟัง
4. การเซิ้งผีโขน จะมีเครื่องดนตรีประกอบการเซิ้ง ได้แก่ กลองตุ้ม ฉิ่ง ฉาบ หมากจันทร์

ข้อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างผีโขนบ้านไฮหย่อง ต.พังโคน จ.สกลนคร กับ ผีตาโขน อ.ด่านซ้าย จ.เลย 
1. ความแตกต่างของขบวนแห่ ผีโขนบ้านไฮหย่อง เป็นขบวนแห่ที่มีอยู่เพียง 3 - 4 ขบวน ซึ่งคงความเป็นงานบุญแบบโบราณ แต่ผีตาโขน อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นขบวนที่ใหญ่มาก มีการตกแต่งสีสันของขบวนแห่ต่างๆ ให้สวยงาม มีขบวนแห่ที่ยาวมาก นอกจากนี้ยังมีการประกวดขบวนผีตาโขน การประกวดการเต้นผีตาโขน และเป็นงานประจำปีของอำเภอ
2. ความแตกต่างของบทเซิ้งผีโขน บ้านไฮหย่องจะมีบทเซิ้งผีโขนแต่ผีตาโขนอำเภอด่านซ้ายจะไม่มี
3. รูปแบบการเตรียมงาน บ้านไฮหย่องจะมีการเตรียมงานล่วงหน้าประมาณ 45 วัน โดยมีการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อมอบหมายหน้าที่ตามความสามารถของแต่ละคน แต่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย นั้นประเพณีผีตาโขนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและถือเป็นงานประจำปีของอำเภอ ดังนั้นการเตรียมงานจึงต้องมีหลายส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมนอกจากนี้ยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวนมาก

ภาคนิพนธ์ของ อรอุมา วิสุกัน สถาบันราชภัฎสกลนคร กันยายน 2542

การเซิ้งผีโขนอำเภอพังโคน การเซิ้งผีโขนเป็นการเซิ้งในงานประเพณีบุญมหาชาติ หรือบุญพระเหวด หรือบุญพระเวสสันดร ของชาวบ้านไฮหย่อง ตำบลไฮหย่อง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น 14-15 เดือน 4 ของทุกปี ศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม โรงเรียนพังโคนวิทยาคม ได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวข้องกับการเซิ้งผีโขนไว้ดังนี้ “ การเซิ้งผีโขนเป็นการละเล่นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนการเซิ้งบ้องไฟหรือเซิ้งแบบอื่น ๆ ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บ้านไฮหย่องเล่าว่า… ปางเมื่อพระเจ้าสนชัย พระบิดาของพระเวสสันดร เสด็จไปเชิญพระเวสสันดรกลับพระนครนั้น ได้จัดขบวนแห่มากมาย ในบรรดาขบวนแห่นั้น ได้มีเทวดา มนุษย์ สมณะชีพราหมณ์ รวมทั้งผีต่าง ๆ เข้าร่วมขบวนแห่ โดยที่พวกผีต่าง ๆ เหล่านั้นได้ไปขอผ้านุ่งห่มของพระศรีอริย์เจ้า ซึ่งท่านไม่ใช้นั้นมาห่อหุ้มร่างกาย เพื่อปกปิดส่วนที่น่ารังเกียจ เข้าร่วมขบวนแห่พระเวสสันดร การเล่นผีโขนจะทำก่อนบุญมหาชาติ พวกที่เล่นผีโขนจะต้องเป็นผู้ชายล้วน ๆ จะพากันจัดแจงหาเครื่องดนตรี หน้ากากผี เสื้อผ้า รวมทั้งดาบผีโขน พอได้ครบแล้วก็จะนัดวันรวมกัน มีหัวหน้าเป็นผู้นำออกเรี่ยไรจุตุปัจจัยตามหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อนำมาสมทบในงานบุญมหาชาติ นิยมทำก่อน 5-6 วัน พอถึงวันบุญ พวกผีโขนก็จะออกเรี่ยไรตามหมู่บ้านของตนเอง การเต้นของผีโขน ขบวนที่แห่ไปตามที่ต่าง ๆ นั้น ไม่จำกัดรูปแบบ จะเดินไปเต้นไปตามเสียงดนตรี เต้นไปตามชอบใจ คือทำตัวให้เหมือนผีมากที่สุด และจะมีบทร้องเซิ้งเป็นกาพย์ ซึ่งมีผู้ร้องนำและผู้ร้องตามหลายคน ในตอนเชิญพระเวสสันดรนั้น คณะกรรมการก็จะจัดพวกผีเข้าร่วมขบวนแห่ โดยเอาเชือกผูกเป็นวงผีจะอยู่เฉพาะในวงเชือกเท่านั้น พอแห่ไปถึงวัดเป็นอันเสร็จงาน พวกผีเหล่านั้นก็จะพากันเอาหน้าผีนั้นไปเก็บไว้ จะไม่นำมาสวมเล่นอีกเลย จนกว่าจะถึงบุญมหาชาติในปีต่อไป ( การแสดงผีโขน, ผู้ที่แต่งเป็นผีผู้ชายต้องให้ครบ 6 ปี ส่วนผู้ที่แต่งเป็นหญิงต้องให้ครบ 3 ปี ถ้าครบเชื่อว่าจะได้บุญกุศล ถ้าไม่ครบเชื่อว่าจะกลายเป็นเปรตเมื่อตายไปแล้ว) การแต่งตัวของผีโขน หน้าผี ทำจากต้นนุ่น ( ไม้งิ้ว) ขุดเป็นรูปหน้ากว้างประมาณ 30 ซม. คือจะกว้างจากหัวไหล่ซ้าย ไปหัวไหล่ขวา ยาวประมาณ 50 ซม. คือจะยาวถึงสะดือ หรือเอวแล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล หน้าผีจะวาดให้เป็นรูปผีน่ากลัว ตาจะโต ฟันจะใหญ่ จมูกจะโด่ง ใบหูใหญ่ทำด้วยสังกะสีเป็นรูปสามเหลี่ยม พอสมควรกับหน้า ผมจะทำจากเชือกปอกกล้วยที่แห้งแล้ว นำมาถักเปียใส่เข้ากับหน้าผี ผมยาวถึงน่อง หรือตาตุ่ม เสื้อ ทำจากผ้าสบงจีวรเก่าของพระสงฆ์ที่ไม่ใช้แล้ว ไปขอมาจากพระที่วัด ตัดเป็นเสื้อคอกลม แขนยาว ลำตัวของเสื้อจะยาวไปถึงตาตุ่ม ย้อมเป็นสีเหลืองอมดำ หรือสีม่วงเหลือง ดาบ ทำจากไม้นุ่น ( ไม้งิ้ว) ให้โตพอเหมาะมือ ตรงปลายดาบทำให้เหมือนกับอวัยวะเพศของชาย และนิยมทาสีแดงตรงปลายและใส่ผมเข้าไปด้วย เครื่องดนตรี เป็นเครื่องดนตรีที่หาได้ง่าย ๆ จากพื้นบ้าน และนิยมเอาเครื่องใช้ของสัตว์มาทำเป็นเครื่องดนตรี ที่สำคัญคือ กลอง ทำจากหนังควาย จัน หรือ โปง ลักษณะคล้ายกระดิ่งนำมามัดรวมกันเป็นพวงใช้สั่นให้เข้ากับจังหวะ มีเสียงกังวาน ( สมัยก่อนใช้คล้องคอวัวควาย) ในการนำมาเล่นจะใช้หลาย ๆ พะวง เป็นเครื่องดนตรีเอกของการเล่นผีโขน พิน หรือ ซึง ใช้ดีดเข้าจังหวะ หรือบทเซิ้ง มี 3 สาย เขาะ หรือ เกาะ ที่ใช้แทนเสียงดนตรีได้ ข้างในมีลูกทำให้เกิดเสียง…”


image รูปภาพ
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar