ประเพณี ออกพรรษา แห่ประสาทผึ้ง

        งานนี้ชาวสกลนครร่วมกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดเป็นงานระดับชาติ กิจกรรมก็คือจัดให้มีการแข่งเรือผีพายหลายประเภททั้งทีมชาย หญิง ผู้ชนะ จะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นประจำทุกปี จากนั้นจะเป็นกิจกรรมการทำบุญออกพรรษา และสุดท้ายจะเป็นงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง โดยจะมีขบวนแห่ปราสาทผึ้งจากอำเภอ คุ้ม ส่วนราชการต่าง ๆ ส่งเข้าแห่ และจะมีการประกวดการจัดทำปราสาท มีการประกวดเทพี ปราสาทผึ้ง และมหรสพสมโภช และนำปราสาทผึ้งไปถวายตามวัดต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร การทำปราสาทผึ้ง เพื่อแห่ไปถวายวัดตามประเพณีแห่ปราสาทผึ้งในวันออกพรรษาของ อาจารย์สิทธิศักดิ์ กางทอง อาจารย์โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล ชาวสกลนครมีความเชื่อว่าการทำบุญด้วยการถวายต้นผึ้ง เป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง ดังนั้นในวันออกพรรษาของทุกปี ชาวคุ้มวัดต่างๆจึงนำขี้ผึ้งไปถวายวัดเพื่อให้พระท่านได้นำไปทำเทียนน้ำมนต์และเทียนเพื่อจุดให้แสงสว่างตอนกลางคืนแรกเริ่มก็ทำโครงต้นผึ้งง่ายๆด้วยการตัดต้นกล้วยมาประดิษฐ์เป็นหอทรงตะลุ่มสี่เหลี่ยมซ้อนกัน แล้วนำขี้ผึ้งมาทำเป็นดอกผึ้งเสียบรอบๆหอที่ทำขึ้น แล้วแห่ไปถวายวัด ระยะต่อมามีการพัฒนาโครงด้วยไม้เป็นทรงสิม คือมีเสา 4 เสา มีหน้าจั่ว 4 ด้าน แล้วเอาก้านกล้วยติดรอบๆโครงไม้ จึงเอาดอกผึ้งเสียบบนก้านกล้วยอีกที ต่อมามีช่างที่มีความรู้และความคิดริเริ่ม ชื่อนายช่างเสถียร ได้เริ่มทำปราสาทผึ้งจริงๆ ทำเป็นรูปปราสาทเรือนยอด เลียนแบบปราสาทราชวัง ทำด้วยไม้เป็นโครงปราสาท แล้วหล่อเทียนเป็นรูปลายไทยติดรอบๆโครงไม้ วัดที่แรกเริ่มทำก็มีวัดแจ้ง วัดสีชมพู วัดเหนือ ซึ่งยืมแบบพิมพ์จากช่างคนเดียวกันไปทำ เมื่อมีการแข่งขันปราสาทผึ้งจึงผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะมาตลอด ปัจจุบันมีช่างที่ทำปราสาทผึ้งเก่งๆหลายท่าน อาทิเช่น อาจารย์ประสาท ต้องโพนทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสกลนคร อาจารย์สนั่น นิมิตร อาจารย์โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล อาจารย์สิทธิศักดิ์ กางทอง อาจารย์โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล เป็นต้น ซึ่งท่านเหล่านี้รับทำปราสาทผึ้งให้วัดต่างๆมาแล้วนานนับ 10 ปี เมื่อมีการประกวดปราสาทผึ้งจึงผลัดกันชนะเลิศมาตลอด ปัจจุบันนี้ ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง ถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ประจำปีของจังหวัดสกลนคร ดังนั้นเมื่อถึงคราวออกพรรษาทุกๆปี คุ้มวัดต่างๆ จึงเชิญชวนช่างที่เก่งๆมาทำปราสาทผึ้งให้ แล้วแห่ไปรอบๆเมือง เพื่อประกวดชิงถ้วยพระราชทาน ตลอดจนประกวดขบวนแห่ปราสาทผึ้งชิงเงินรางวัลก้อนโต อันแสดงถึงความเชื่อมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีดีงามของชาวสกลนครได้เป็นอย่างดี

ประเพณีการแห่ปราสาทผึ้ง ประเพณีของชาวอีสาน ถือว่าการทำบุญด้วยการถวายต้นผึ้ง เป็นบุญกุศลสูงส่ง ดังนั้นในการถวายทานให้แก่ผู้ตายในงานแจกข้าว (งานทำบุญให้ผู้ตาย) เมื่อถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์แล้ว ก็ถวายหอผึ้งเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้วายชนม์ ต่อมา ประเพณีดังกล่าวได้มีกลุ่มคนจัดขึ้นมาอย่างใหญ่โตด้วยความศรัทธาในเทศกาลออกพรรษา พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อมาโปรดเวนัยสัตว์ในโลกมนุษย์ให้พ้นทุกข์ด้วยประเพณีดังกล่าว กลุ่มชาวเมืองสกลนครที่มีคุ้มวัดต่าง ๆ จึงได้จัดทำหอผึ้ง หรือปราสาทผึ้ง ถวายที่วัดพระธาตุเชิงชุมเป็นประจำทุกปี ด้วยมีความเชื่อหลายประการ คือ
        1) พุทธศาสนิกชนเชื่อกันว่า การทำบุญในวันออกพรรษา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเปิดโลกทั้งสามให้มองเห็นความเป็นอยู่ซึ่งกันและกัน และโดยพุทธานุภาพแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวบ้านได้มองเห็นหอผึ้งที่ตนทำถวาย
        2) วัดพระธาตุเชิงชุมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พระพุทธเจ้ามาประชุมรอยพระพุทธบาทถึง 4 พระองค์ และได้มีการสร้างพระธาตุเชิงชุมครอบรอบพระพุทธบาทนั้นไว้ การนำหอผึ้งมาถวายเป็นพุทธบูชารอยพระพุทธบาทย่อมเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
        3) เป็นการทำบุญที่ญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกลได้มาพบกัน ได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน และร่วมประเพณีแข่งเรืออย่างสนุกสนาน

ปราสาทผึ้งของจังหวัดสกลนคร ได้พัฒนารูปแบบของการทำปราสาทผึ้ง ออกเป็น 3 ระยะดังนี้
        1) ระยะแรกยุคต้นผึ้งหรือหอผึ้ง เป็นต้นกำเนิดของปราสาทผึ้งในปัจจุบัน ทำจากต้นกล้วย ตัดให้ยาวพอสมควรทำขาหยั่งสามขายึดต้นกล้วยเข้าไว้ จากนั้นจะนำขี้ผึ้งมาเคี่ยวให้หลอมเหลวใส่ลงในแม่พิมพ์ เรียกว่าดอกผึ้ง แล้วนำมาติดที่ก้านกล้วยหรือกาบกล้วย ซึ่งต่อมาได้ทำเป็นหอผึ้ง มีลักษณะเป็นทรงตะลุ่ม ทำโครงด้วยไม้ไผ่ผูกเสริมด้วยกาบกล้วย ก้านกล้วย จะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมสองชั้น ต่อกันคล้ายเอวขันธ์หรือเอวพาน การตกแต่ง ยังนิยมประดับด้วยดอกผึ้ง ตามโครงกาบกล้วย
        2.) ระยะที่สองยุคปราสาทผึ้งทรงหอ-ทรงสิมหรือศาลพระภูมิ ได้มีพัฒนาการทำโครงเป็นโครงด้วยไม้ โดยใช้ไม้เนื้ออ่อนทำเป็นเสาสี่ต้น พันด้วยกระดาษสี เครื่องบนทำเป็นหลักคล้ายหมาก แต่งหน้าจั่วด้วยหยวกกล้วยประดับดอกผึ้ง ในส่วนปราสาทผึ้งทรงสิมจะลดความสูงลง ทำหน้าจั่วทรงจตุรมุขตามแบบสิมพื้นบ้านของภาคอีสานโดยทั่วไป การประดับตกแต่งใช้วิธีการแทงหยวกประดับป้านลม ช่อฟ้า ใบระกา ด้วยดอกผึ้งตามส่วนต่าง ๆ
        3) ยุคปราสาทผึ้งเรือนยอด เป็นการทำปราสาทผึ้ง โดยการพัฒนารูปแบบลวดลายองค์ประกอบให้วิจิตรพิศดารยิ่งขึ้น ด้วยโครงไม้ ให้เป็นทรงปราสาทจตุรมุขมีเรือนยอดเรียวหรือที่เรียกว่า “กฎาคาร” ตัวอาคารทั้งสี่ด้านต่อเป็นมุขยื่นออกไปมีขนาดเท่ากับบางแห่งสร้างปราสาทสามหลังติดกัน นอกจากนี้ยังเน้นความประณีตในการตกแต่งผึ้งให้งดงาม เช่นกำแพงแก้ว หน้าบัน ช่อฟ้าใบระกา นาคสะดุ้ง โดยใช้ศิลปกรรมไทยหรือผสมผสานระหว่างศิลปะอีสานกับไทยภาคกลาง เป็นการสร้างปราสาทที่เลียนแบบที่ประทับพระมหากษัตริย์ เพื่อถวายแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดับตกแต่งมีทั้งแบบหล่อแกะลาย และแบบติดพิมพ์สมัยใหม่

        การแห่ปราสาทผึ้งจะมีอยู่ 2 ส่วน คือในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 จะเป็นการนำปราสาทผึ้งไปชุมนุมกันเพื่อฉลองคบงัน 1 วัน 1 คืน ในวันรุ่งขึ้น เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11จะเป็นวันแห่ปราสาทผึ้งไปทอดถวาย ณ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ซึ่งจะมีขบวนแห่อย่างสวยงาม ประกอบด้วยการแสดงพื้นบ้านต่าง ๆ ของสภาวัฒนธรรมอำเภอทุกอำเภอ เช่น การแต่งกาย 6 เผ่า การรำมวยโบราณการฟ้อนถูไท(ผู้ไทย) การแสดงดนตรีพื้นเมืองการแสดงถึงวิถีชีวิตของคนสกลนครซึ่งเป็นประเพณีที่มีความสนุกสนานแต่ในขณะเดียวกันได้แสดงออกถึงความเชื่อในพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญและถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจังหวัด สกลนคร


image รูปภาพ
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar