ชุมชนผ้าย้อมคราม

2 มี.ค 2561      4548 views

แชร์ทั้งหมด 8 ครั้ง

Facebook share Twitter share Print

เที่ยววิถีไทย บ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร วันนี้เราไปเที่ยวชมหมู่บ้านที่มีกลุ่มเรียนรู้ชุมชน การทำผ้าย้อมคราม ความเป็นมาของผ้าย้อมคราม มีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมา ว่าผ้าสีครามสวยสดใสไม่ซีดไม่จางนั้นมีมาแต่เก่าก่อนหลายชั่วอายุคน บางคนว่า บ้านดอนกอยนี่เองคือต้นกำเนิดผ้าย้อมคราม จากความบังเอิญของสองตายายที่ค้นพบยางไม้ชนิดหนึ่งพอบ้วนน้ำหมากลงไป ยางนั้นก็มีสีคราม จึงได้นำเอาต้นไม้นั้นกลับมาบ้านเอาไปแช่น้ำ น้ำกลายเป็นสีเขียวเอาปูนผสมลงไปน้ำกลายเป็นสีคราม พอลองย้อมกับผ้าฝ้าย ฝ้ายก็เปลี่ยนเป็นสีคราม แต่พอถูกน้ำสีครามก็จางหายไป จึงได้ลองเอาเปลือกไม้ชนิดต่างๆ มาต้มเอาน้ำมาผสมใส่น้ำจากขี้เถ้า (เรียกว่าน้ำคั่ง) กวนให้เข้ากันแล้วเอาฝ้ายลงแช่ ปรากฏว่าสีครามติดอยู่กับผ้าฝ้ายโดนน้ำแล้วก็ไม่จางลง จากนั้นมายายก็เรียกต้นไม้ที่เอามาแช่น้ำนั้นว่า ต้นคราม หลังจากนั้นมาก็มีการทอผ้าฝ้ายด้วยลวดลายต่างๆ มากมายที่คิดค้นดัดแปลงขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วอนุรักษ์เอาไว้เป็นลายของหมู่บ้าน เมื่อเวลาผ่านไป ชาวบ้านที่มีความสามัคคี เอื้อเฟื้อกันอย่างบ้านดอนกอย ก็ได้จัดตั้งกลุ่มทำการทอผ้า ได้รับการสนับสนุนจากทางราชการจนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ประจำหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย การเดินทางของเราจากตัวจังหวัดสกลนครระยะทางประมาณ 38 กิโลเมตร ถึงทางแยกเข้าบ้านตอนกอย ถนนหมายเลข 2355 เป็นถนนลูกรังยาวต่อเนื่อง 12 กิโลเมตร พอเข้าเขตหมู่บ้าน จะเป็นถนนคอนกรีต จากนั้นมาถึงสี่แยกกลางหมู่บ้าน เป็นที่ทำการของแหล่งเรียนรู้ วิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย เป็นอาคารเปิดโล่งกว้างพอสมควร ด้านในจะแบ่งพื้นที่ทำงานออกเป็นส่วนๆ เข้าไปเดินดูกันเลยดีกว่า ตรงสี่แยกที่ทำการกลุ่มทอผ้าย้อมคราม มีศาลาตรงหัวมุม กับลานกว้างชาวบ้านเอาฟางมากองไว้ ชอบตรงที่ศาลา มีคติสอนใจ อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา อยู่ด้วย เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เป็นคาถาเรียกทรัพย์ ท่องไว้ให้ขึ้นใจแล้วปฏิบัติตาม จะไม่อดอยาก ไม่ยากจน ฝ้ายย้อมคราม พอเดินเข้ามาในบริเวณบ้านและอาคารกลุ่มทอผ้า เราจะเห็นราวตากเส้นฝ้ายอยู่หน้าบ้าน ฝ้ายที่ทำการย้อมแล้วจะเอามาตากให้แห้ง ก่อนที่จะเอาไปม้วนให้เรียบร้อยสำหรับการทอต่อไป การย้อมครามมีทั้งย้อมทั้งหมด และย้อมให้เหลือเป็นบางส่วนเพื่อที่จะเอาไปทอให้เป็นลวดลายตามต้องการ การเว้นช่วงการย้อมจะใช้วิธีเอาเชือกฟางมามัดส่วนที่ไม่ต้องการให้สีติดก่อนที่จะจุ่มลงไปในน้ำคราม การม้วนฝ้าย เข้ามาถึงใต้ถุนบ้านหลังใหญ่ เป็นพื้นที่ของแผนกม้วน ฝ้ายที่ย้อมครามเรียบร้อยและแห้งดีแล้วจะถูกเอามาม้วน เมื่อเอาไปทอเส้นไยฝ้ายก็จะไม่ยุ่งติดกัน เฉพาะส่วนของการม้วนก็มีแม่บ้านในกลุ่มจำนวนหลายคนที่ช่วยกันนั่งม้วนเรียกว่าเป็นแผนกหนึ่งเลยก็ว่าได้ การย้อมคราม จากแผนกม้วนเราก็เดินต่อมาอีกด้านหนึ่งสิ่งที่เราเห็นคือถังจำนวนหลายสิบใบตั้งเรียงรายกัน ในถังเต็มไปด้วยน้ำคราม สำหรับส่วนผสมของน้ำครามเราไม่ลงละเอียดมากนัก คร่าวๆ ก็คือ ใบคราม น้ำคั่ง (น้ำขี้เถ้า) เป็นหลัก พอเอาฝ้ายสีขาวสะอาดจุ่มลงไปฝ้ายจะกลายเป็นสีเขียว แต่พอบิดเอาน้ำครามออก ฝ้ายจะกลับเป็นสีคราม แปลกจริงๆ เทคนิคการย้อมครามนั้นคือการย้อมหลายๆ น้ำ เพราะการย้อมครามแต่ละครั้งสีครามจะเข้าไปในเนื้อผ้าแต่จะได้ความเข้มไม่มาก กว่าจะได้สีน้ำเงินที่เราเห็นๆ กันอย่างน้อยต้องย้อม 3 น้ำ เลยทีเดียว แผนกย้อมครามเป็นแผนกที่ต้องทำงานกับกลิ่นของคราม เราเข้ามาไม่นานก็เวียนหัวซะแล้ว ทอผ้าย้อมคราม เมื่อเส้นไยฝ้ายถูกย้อมจนได้ความเข้มมากพอแล้วกระบวนการต่อไปหลังจากตากให้แห้งคือการเอามาทอ การทอผ้าฝ้ายย้อมครามใช้กี่หลายขนาดตามหน้ากว้างของผ้า ผ้าที่ได้จะออกมาเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ หรือผ้าซิ่น หรือจะเอามาตัดเสื้อ ก็ต้องทอตามหน้ากว้างที่พอเหมาะ ที่กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย สามารถทอพร้อมกันได้ 25 ผืน แต่ละวันจะทอได้ผ้ายาวกว่า 1 เมตร ต่อคน ขึ้นอยู่กับลายผ้า ผ้าแต่ละผืนมีความแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ที่จะเอาไปใช้ อย่างผ้าพันคอหรือคลุมไหล่ยาวที่สุดประมาณ 2 เมตร ส่วนผ้าที่จะไปตัดเสื้อหรือผ้าซิ่นจะทอยาว 4 เมตร เป็นต้น การเตรียมผ้ามัดย้อมคราม นอกจากการทอให้เกิดเป็นลวดลายตามตำราลายอันเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน ที่บ้านดอนกอย ยังมีการทอผ้ามัดย้อม คือการทำลายบนไยฝ้ายก่อนการย้อมด้วยการมัดด้วยเชือกฟาง เทคนิคเดียวกันกับผ้าไหมมัดย้อม อย่างลายที่เราเห็นอยู่นี้เรียกกันว่า "ลายคว่ำหงาย" เลือกซื้อผ้าย้อมคราม ปิดท้ายการเที่ยวแหล่งเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ด้วยภาพนางสมฤดี ชาญชัย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่กำลังเลือกชมผ้าย้อมคราม ก่อนที่ชาวคณะสื่อมวลชน และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจะซื้อผ้าย้อมครามกันไปคนละหลายผืน จนหมด และได้ทำการสั่งเอาไว้อีกจำนวนมาก  ผ้าย้อมคราม นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ ของภูมิปัญญาชาวไทย ชาวต่างชาติชื่นชมในผลงาน แล้วชาวไทยจะไม่ใช้ได้อย่างไร...


แหล่งที่มา :