ครม. มีมติเห็นชอบให้เพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.) จากเดิมเดือนละ 1,000 บาท เป็น 2,000 บาทต่อคน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ตั้งคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป
(*ค่าป่วยการ เงินที่ทางราชการจ่ายตอบแทนให้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัคร)
เนื่องจาก อสม.และ อสส. มีภารกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายรัฐบาลในการดูแลสุขภาพ ที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และยังคงปฏิบัติหน้าที่ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ ระบาดของโรคโควิด - 19 ในระยะ Post-Pandemic ในชุมชน จำนวน 4 งาน ได้แก่
1. คัดกรองเพื่อประเมินภาวะสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน 9 ด้าน
• ด้านความคิดความจำ
• ด้านการเคลื่อนไหวของร่างกาย
• ด้านการขาดสารอาหาร
• ด้านการมองเห็น
• ด้านการได้ยิน
• ด้านภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
• ด้านการกลั้นปัสสาวะ
• ด้านการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน
• ด้านสุขภาพช่องปาก
2. สร้างความรอบรู้ และให้บริการดูแลสุขภาพตามสภาพปัญหาในแต่ละด้าน และประสานภาคีเครือข่ายดูแล ผู้สูงอายุให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
3. ปฏิบัติงานในระยะ Post-Pandemic ของโรคโควิด - 19
4. ติดตามผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดในระบบสมัครใจบำบัด
ปัจจุบันมี อสม. จำนวน 1,075,163 คน และ อสส. จำนวน 15,000 คน คาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ จำนวน 13,081 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า รัฐบาลต้องดูแลบุคลากร คนทำงานทุกภาคส่วน ซึ่งจะต้องพัฒนาทุกระบบให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นด้วย
อสม. รากฐานของระบบสาธารณสุขไทยที่แข็งแกร่ง
อสม. ถือเป็นรากฐานของระบบสาธารณสุขไทยที่แข็งแกร่ง องค์การอนามัยโลกยกย่องว่าเป็นกลไกสำคัญที่ร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขบริหารจัดการควบคุมโรคระบาด เป็นกลุ่มมวลชนที่อาสามาบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมที่ประเทศอื่นไม่มีกระทรวงสาธารณสุขจึงดำเนินนโยบาย “3 หมอ” ให้ประชาชนคนไทย 1 คน มีหมอประจำตัว 3 คน
หมอคนที่ 1 คือ อสม. หมอประจำบ้าน ทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจ
ประชาชนในการใส่ใจสุขภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี คัดกรองสุขภาพและเก็บข้อมูลผู้สูงอายุ ติดตามประสานงาน เยี่ยมบ้าน เคาะประตูดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ประสานงานกับแพทย์ พยาบาล ในการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ปฐมพยาบาล หรือส่งต่อ นอกจากนี้ ยังช่วยเฝ้าระวังสอดส่องเรื่องยาเสพติดในชุมชน หมู่บ้าน และประสานแจ้งเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความเสี่ยงอันตราย
หมอคนที่ 2 คือ หมอสาธารณสุข บุคลากรในสถานบริการปฐมภูมิ ทั้ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คลินิกหมอครอบครัว ศูนย์บริการสาธารณสุข ครอบคลุมบุคลากรทุกสาชาวิชาชีพทั้งพยาบาล เภสัชกร นักสาธารณสุขชุมชน และวิชาชีพอื่นๆ ทำหน้าที่ให้การดูแลส่งเสริมสุขภาพ
หมอคนที่ 3 หมอครอบครัว คือ แพทย์ในโรงพยาบาล เป็นผู้มอบการรักษา ดูแล ให้คำปรึกษา ประสานและส่งต่อการรักษาพิเศษ
แนวทางการสื่อสาร
1. นำเสนอให้เห็นประโยชน์และการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ที่ อสม. และ อสส.จะได้รับ
2. สำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ เกี่ยวกับ อสม. และ อสส. ว่าการเพิ่มค่าป่วยการ2,000 บาทนั้นครอบคลุมมากน้อยเพียงใด
3. สร้างความเข้าใจกับทุกกลุ่มว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ทำงานทุกภาคส่วน